ในสมัยรัชกาลที่ 3 โบสถ์วัดบวรฯ เคยประดับภาพคริสต์ประวัติ
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เคยประทับจำพรรษาอยู่ในช่วงที่พระองค์ทรงอยู่ในสมณเพศ (พระวชิรญาณเถระ) ก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา
ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศนั้น พระองค์ได้ทรงสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามแบบศิลปะตะวันตกไว้ในอุโบสถ ซึ่งมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กับคริสต์ศาสนาและได้ซ่อนความหมายแฝงไว้อย่างลึกซึ้ง โดยภาพเหล่านี้ต่อมารู้จักกันในชื่อภาพปริศนาธรรม (รายละเอียดดูในหนังสือ “ถอดรหัสภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง” สนพ.มิวเซียมเพรส) นอกจากภาพปริศนาธรรมดังกล่าวแล้ว บันทึกเก่าแก่ของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงเวลานั้นยังมีการประดับภาพคริสตประวัติไว้ที่เสาของอุโบสถด้วย
Facebook เล่าเรื่อง...วัดบวร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ในจดหมายของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ที่มีไปถึงนายมัลลา ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ท่านได้เดินทางมาที่วัดบวรนิเวศและได้เข้าเฝ้าพระวชิรญาณเถระ เมื่อ พ.ศ.2387 ว่า เมื่อท่านได้เดินทางมาที่อุโบสถ ท่านได้เห็น “รูปอัตถล้ำลึกของพระผู้เป็นเจ้า” (ภาพคริสต์ประวัติ) ใส่กรอบสีทองแขวนอยู่ตามเสา ข้อความในจดหมายตอนหนึ่งเขียนว่า “...ผมได้ทูลถามทูลกระหม่อมพระว่า ทูลกระหม่อม ทำไมพระองค์จึงแขวนรูปพระเป็นเจ้าของพวกเราท่ามกลางภาพวาดของพระพุทธเจ้า (ทูลกระหม่อมตรัสตอบว่า) ...เพราะข้าพเจ้าก็นับถือพระองค์ด้วยเช่นกัน....”
ในจดหมายของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ยังเล่าอีกว่า ผังของอุโบสถวัดบวรนิเวศเป็นรูปทรงไม้กางเขน ซึ่งพระวชิรญาณเถระได้ตรัสตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้สั้นๆ ว่า “...ดูเหมือนโบสถ์คริสต์....”