ภูเขาที่วัดราชคฤห์ ฝั่งธนฯ สมัย ร.1 สร้างจำลองเขาคิชฌกูฏ-พระบาท สระบุรี
วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรีคือ วัดราชคฤห์ ถนนเทอดไท เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ต่อมาในสมัย ร.1 เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ผู้แปลเรื่องสามก๊ก ได้บูรณะขึ้นใหม่
วัดแห่งนี้ มีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ ภูเขาจำลองขนาดย่อม ยาวราว 27 เมตร กว้างราว 23 เมตร สูงราว 5 เมตร ด้านบนมีมณฑปพระพุทธบาท และเจดีย์ย่อมุมตั้งอยู่
จากการศึกษาของ อ.สิริเดช วังกรานต์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร พบว่า ภูเขาจำลองแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อจำลองเขาคิชฌกูฏ อันเป็นภูเขาที่ตั้งของอุทยานที่ประทับของพระพุทธเจ้า ณ เมืองราชคฤห์ อินเดีย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดนั่นเอง ที่ประทับบนเขาคิชฌกูฏแห่งนี้ เหล่าเศรษฐีของเมืองได้ร่วมกันเป็นผู้สร้างถวาย โดยเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้เปรียบตนเองว่าเป็นดั่งเศรษฐีของเมืองราชคฤห์
ภูเขาจำลอง วัดราชคฤห์แห่งนี้ แรกเริ่มบริเวณด้านบนประดิษฐานเพียงเจดีย์ย่อมุม (มหาสุคนธเจดีย์) ซึ่งเปรียบดั่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ รวมทั้งยังเปรียบดั่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย ต่อมา พ.ศ.2342 ได้มีการเพิ่มความหมายของภูเขาจำลองแห่งนี้เพิ่มขึ้น โดยเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้สร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทและพระพุทธฉายเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง เพื่อสื่อความหมายถึงเขาพระพุทธบาท สระบุรี และ พระพุทธฉาย เขาปถวี
กระทั่งต่อมาในสมัย ร.4-5 ได้มีการบูรณะภูเขาจำลองแห่งนี้ โดยเน้นย้ำความหมายในเรื่องพระพุทธบาทให้เด่นชัดขึ้น ตามกระแสความนิยมในการนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีที่แพร่หลายในพระนครในขณะนั้น ด้วยการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเลียนแบบมาจากเขาพระพุทธบาท สระบุรี เช่น มีการสร้างเทวรูปเทพารักษ์ประจำพระพุทธบาท ยักษ์คู่ สะพานนาค เป็นต้น
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง "การเปลี่ยนรูปและความหมายของภูเขาจำลอง
วัดราชคฤห์ ธนบุรี" โดย สิริเดช วังกรานต์ ในวารสารหน้าจั่ว ฉ.17,2 2563
คลิกอ่านที่นี่ https://bit.ly/3pFTVsC
(ที่มาภาพ: facebook คิดอย่าง)